เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ประเภทของปลั๊กไฟและกระแสไฟฟ้า ของประเทศที่คุณจะเดินทางไป
- อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออิเล็คทรอนิคส์ที่คุณจะนำไปใช้ ในต่างประเทศนั้น รองรับกระแสไฟฟ้าเท่าไหร่บ้าง
- ปลั๊กไฟหรือเต้าเสียบของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือ อิเล็คทรอนิคส์ ที่คุณจะนำไปใช้ในต่างประเทศนั้น เป็นปลั๊กประเภทไหน
ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ต่างก็ผลิตออกมาให้รองรับกระแสไฟฟ้าและความถี่ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถใช้ได้หลายๆประเทศ แต่จะแตกต่างกันตรงปลั๊กไฟ หรือเต้าเสียบ ยกตัวอย่างเช่น ปลั๊กสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ
ให้ดูตรงที่เขียนว่า “Input” ตัวเลขที่อยู่หลังคำนี้ จะบอกว่าอุปกรณ์นี้รองรับกระแสไฟฟ้าและความถี่เท่าไหร่ จากรูปตัวอย่างข้างล่าง อุปกรณ์นี้ รองรับกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 100-240 โวลต์ ความถี่ 50-60 Hz
ดังนั้นเราสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปใช้ได้ทุกประเทศทั่วโลก แต่เราจะต้องนำปลั๊กอะแดปเตอร์ (Plug Adapter or Travel Adapter) ติดตัวไปด้วย เพราะลักษณะปลั๊ก ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน และถ้าหากประเทศที่คุณจะเดินทางไป ใช้ปลั๊กหลากหลายแบบ การที่คุณนำปลั๊กอะแดปเตอร์ติดตัวไปด้วย ก็จะทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลาในการหาปลั๊กอะแดปเตอร์ เพราะคุณคงไม่ทราบล่วงหน้าว่า สถานที่ที่คุณจะไปพักนั้น ใช้ปลั๊กแบบไหน ทั้งนี้มีนักเดินทางบางคนแนะนำว่า นอกจากปลั๊กอะแดปเตอร์แล้ว เราควรจะนำสายต่อแบบรางไปด้วย เพื่อที่จะได้สะดวกในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า
ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ต่างก็ผลิตออกมาให้รองรับกระแสไฟฟ้า
ตั้งแต่ 100-240 โวลต์ และความถี่ 50-60 Hz เพื่อให้สามารถใช้ได้หลายๆประเทศ แต่จะแตกต่างกันตรงปลั๊กไฟหรือเต้าเสียบ
ดังนั้นนักเดินทางทั้งหลาย อย่าลืมตรวจสอบ ปลั๊กไฟของประเทศที่จะเดินทางไป ว่าเป็นอย่างไร
เพราะถ้าไม่เหมือนกับ ประเทศไทยของเรา คุณจะได้เตรียม ปลั๊กอะแดปเตอร์ (Plug Adapter or Travel Adapter)
ติดตัวไปด้วย มิฉะนั้นคุณอาจจะไม่สามารถชาร์จมือถือ หรือกล้องถ่ายรูปได้ คุณสามารถหาซื้อปลั๊กอะแดปเตอร์ ในไทยได้ง่ายทั้ง
ไปซื้อในห้างสรรพสินค้า หรือช้อปปิ้งออนไลน์ หรือซื้อที่สนามบิน ก็ได้ ทั้งนี้มีให้เลือกหลายแบบ ตามความพอใจของคุณ
"โปรดทราบว่า ปลั๊กอะแดปเตอร์ ไม่ใช่ตัวแปลงกระแสไฟฟ้า มันเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมสำหรับปลั๊กไฟเท่านั้น"
ทำไมแต่ละประเทศถึงมีปลั๊กไฟแตกต่างกัน
แต่ละประเทศใช้กระแสไฟฟ้าและปลั๊กไฟแตกต่างกัน สาเหตุเพราะในอดีต ผู้คนไม่ได้เดินทางไปมาระหว่างประเทศเยอะ เหมือนในปัจจุบัน และเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อพกพาไปยังสถานที่ต่างๆได้สะดวกดังเช่นปัจจุบัน ดังนั้นแต่ละประเทศจึงพัฒนาปลั๊กไฟตามความพอใจของตน อีกทั้งในอดีตยังไม่มีมาตราฐานโลก เป็นตัวกำหนด ให้ทุกประเทศต้องปฎิบัติตาม
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมี คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (International Electrotechnical Commission - IEC) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2449 (หรือ ปี ค.ศ. 1906) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศ ทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง กำลังพยายามผลักดันให้ทุกประเทศใช้ปลั๊กไฟมาตราฐานเดียวกัน แต่คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
กว่าจะถึงเวลานั้นเรามาดูกันว่า ในปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง กระแสไฟฟ้าหลักๆ ที่แต่ละประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็จะมีตั้งแต่ 100-120 โวลต์ และ 200-240 โวลต์ ที่ความถี่ 50-60Hz ส่วนปลั๊กไฟก็แตกต่างกันอยู่ ประมาณ 15 แบบ ดังต่อไปนี้
Type A:
เต้าเสียบจะมีขาแบน 2 ขา ส่วนเต้ารับ ก็จะเป็นรูแบบตาแบน 2 ตา บางครั้งขา/ตาใด ขา/ตาหนึ่ง จะใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง ดังนั้นเรา ไม่สามารถ เสียบสลับข้างได้ ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น
Type B:
เต้าเสียบจะมีขาแบน 2 ขา และขากลม 1 ขาสำหรับสายดิน ส่วนเต้ารับก็จะ เป็นรูแบบตาแบน 2 ตา และรูกลม สำหรับสายดิน 1 ตา ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เหมือนกับ Type A
Type C:
เต้าเสียบจะมี 2 ขากลม และเต้ารับก็มี 2 ตากลมเช่นเดียวกัน ปลั๊กประเภทนี้ ใช้แพร่หลาย ในยุโรป จนทำให้มีชื่อเรียกว่า Europlug ตัวอย่างประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฟินแลนด์ เป็นต้น
Type D:
หรือปลั๊กอังกฤษแบบเก่า ปลั๊กประเภทนี้เต้าเสียบ จะมีขากลม 3 ขา และเต้ารับมีที่เสียบแบบกลม 3 ตา โดยที่ทั้ง 3 ขา/ตา จะเรียงตัวกันคล้ายสามเหลี่ยม และมีขนาดเท่ากันทั้ง 3 ขา/ตา ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้ก็เช่น อินเดีย เนปาล
Type E:
เต้ารับของปลั๊กประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นหลุมกลม ซึ่งจะมีที่เสียบแบบกลม 2 ตา และมีขากลม สำหรับสายดิน 1 ขายื่นออกมา ส่วนเต้าเสียบ ก็จะมีลักษณะกลมเช่นกัน เพื่อให้สามารถ เสียบลงไปในหลุมของเต้ารับได้ เต้าเสียบ
จะมีขากลม 2 ขา และมีรูกลม 1 ตาไว้สำหรับรองรับ ขากลมสายดิน ที่ยื่นออกมาจากเต้ารับ ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้ก็เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เป็นต้น
Type F:
เต้ารับของปลั๊กประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นหลุมกลม เช่นเดียวกับ Type E แต่ที่เต้ารับจะมีที่เสียบแบบกลม 2 ขา และมีเขี้ยวสำหรับสายดิน อยู่ตรง ขอบหลุม ด้านบนและล่างรวม2แห่งส่วนเต้าเสียบ ก็จะมี
ลักษณะกลมเช่นกันเพื่อให้สามารถเสียบลงไปในหลุมของเต้ารับได้ เต้าเสียบจะมีขากลม 2 ขา และมีช่องเป็นทางยาว 2 แห่ง เพื่อรอง รับเขี้ยวสำหรับสายดินที่ยื่นออกมาจากเต้ารับ ปลั๊กประเภทนี้ มีชื่อเรียก อีกอย่างว่า “Schuko plug” ซึ่งใช้แพร่หลายในประเทศเยอรมัน สเปน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
Type G:
เต้าเสียบมี 3 ขา แต่ละขามีลัษณะเหมือน สี่เหลี่ยมผืนผ้า วางเรียงกันคล้ายสามเหลี่ยม ส่วนเต้ารับก็จะมี 3 ตาที่รองรับขาเสียบแบบ สีเหลี่ยมผืนผ้าเช่นกัน อังกฤษและฮ่องกง เป็นตัวอย่าง ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้
Type H:
เป็นปลั๊กแบบพิเศษมีใช้เฉพาะที่อิสราเอล เขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา เท่านั้น โดยเต้าเสียบ มีลักษณะกลม มี 3 ขา ซึ่ง 2 ขาคู่จะเอียงตัว เข้าหากัน คล้ายตัววี ส่วนอีกขา อยู่ตรงปลายตัววีนั้น เป็นสายดิน ลักษณะเต้ารับ ก็กลม เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นหลุมกลมลึกเหมือน Type E & F
Type I:
เป็นปลั๊กที่มี 3 ขาแบน โดยที่ 2 ขาจะเอียงเข้าหากัน เหมือนตัววีคว่ำ และมีขาสำหรับสายดินตั้งตรงอยู่ ระหว่างด้านในของตัววี ปลั๊กประเภทนี้ใช้กันมากที่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
Type J:
หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ปลั๊กสวิส 3 ขา เพราะ ใช้กันมากที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยที่ทั้ง 3 ขาเป็นขาแบบกลม และตาที่เต้ารับก็จะรองรับ เฉพาะ ขากลมเท่านั้น ปลั๊กนี้คล้ายกับปลั๊ก Type C ต่างที่ Type J มีขาสำหรับสายดิน แต่ Type C ไม่มี
Type K:
เป็นปลั๊กที่มีขากลม 3 ขา และตาที่เต้ารับก็จะรองรับ เฉพาะขากลม 3 ขาเท่านั้น ปลั๊ก Type K นี้คล้ายกับปลั๊ก Type F แต่ต่างกันตรงสายดิน
ซึ่งสายดินของ Type K เป็นขากึ่งกลมอยู่ที่เต้าเสียบ ส่วน Type F เป็นเขี้ยวอยู่ที่เต้ารับ ปลั๊ก Type K นี้ใช้แพร่หลายในประเทศเดนมาร์ก กรีนแลนด์ มัลดีฟ เป็นต้น
Type L:
เต้าเสียบของปลั๊กประเภทนี้มีขากลม 3 ขา ที่เรียงกัน เป็นแนวเดียว โดยที่สายดินจะอยู่ตรงกลาง ส่วนเต้ารับก็จะมี 3 ตาแบบกลมเช่นกัน ปลั๊กนี้ใช้กันมากในอิตาลี
Type M:
เต้าเสียบจะมีขากลม 3 ขา และเต้ารับมีที่เสียบ แบบกลม 3 ตา โดยที่ทั้ง 3 ขา/ตา จะเรียงตัวกัน คล้ายสามเหลี่ยม คล้ายกับปลั๊ก Type D แต่ขา/ตาทั้ง 3 ขา/ตาของ Type M จะมีขนาดใหญ่กว่า ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้คือ เซาท์แอฟริกา สะวาซิแลนด์ เป็นต้น
Type N:
มีลักษณะคล้าย Type J คือ เต้าเสียบเป็นแบบ 3 ขากลม และเต้ารับรองรับ 3 ตากลม แต่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพราะตำแหน่ง ของสายดินอยู่คนละตำแหน่งกัน ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้คือ บราซิล
Type O:
ส่วนประเทศไทยของเรา ใช้ปลั๊กหลากหลาย มีทั้ง Type A, B, C และ F โดยใช้กระแสไฟ 220 โวลต์ ที่ความถี่ 50Hz แต่บางครั้งเราอาจจะ เจอปลั๊ก ที่มีเต้าเสียบ 3 ขากลมและเต้ารับ 3 ตากลม ลักษณะคล้ายกับ Type D ของอินเดีย แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้
เพราะความห่างของขา/ตาแต่ละขา/ตา ไม่เท่ากับ Type D ของอินเดีย ซึ่งเป็นปลั๊กที่มีลักษณะ เฉพาะของประเทศไทยเราเท่านั้น