บอร์ดดิ้งพาส หรือ บัตรที่นั่ง (Boarding Pass) เป็นเอกสารที่ อนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน สำหรับเที่ยวบินนั้นๆได้ แล้วเราจะได้รับบอร์ดดิ้งพาสเมื่อไหร่ คำตอบคือ
- เมื่อเราไปแสดงตน และดำเนินการเช็คอิน ที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน ประจำเที่ยวบินที่เราต้องการเดินทาง เมื่อเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ ตรวจสอบข้อมูลของเราเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกบอร์ดดิ้งพาสให้กับเรา หรือ
- เช็คอินผ่านเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ (Self Service Check-in Kiosk) ที่สนามบิน เมื่อเราดำเนินการ ตามคำแนะนำที่เครื่องฯเสร็จแล้ว เครื่องฯก็จะพริ้นต์บอร์ดดิ้งพาสให้กับเรา หรือ
- เช็คอินออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น ของสายการบินที่เราจะเดินทาง ซึ่งการเช็คอินออนไลน์นี้ เราจะพริ้นต์บอร์ดดิ้งพาสออกเป็นกระดาษ หรือ เลือกเป็นบอร์ดดิ้งพาสอิเล็คทรอนิค (E-boarding pass) ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อกำหนด ของแต่ละสายการบิน
บอร์ดดิ้งพาสจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนสำหรับสายการบิน และส่วนสำหรับผู้โดยสาร (แต่ถ้าเป็น E-boarding pass จะไม่ได้แยกส่วนกัน) ซึ่งตอนที่เราได้รับ บอร์ดดิ้งพาสมานั้น จะมีทั้ง 2 ส่วน
รายละเอียดบนบอร์ดดิ้งพาส นอกจาก นามสกุลและชื่อ (Passenger) ของเราแล้ว ยังบอกอะไรเราอีกบ้าง
- หมายเลขเที่ยวบิน (Flight Number) จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นรหัสของสายการบิน (รหัสที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ - ICAO ตั้งขึ้น) และตามด้วยตัวเลข ซึ่งตัวเลขแต่ละหลักจะหมายถึง เที่ยวบินขาเข้าหรือขาออก ทั้งนี้เราควรจำ หมายเลขเที่ยวบิน ที่เราจะบินให้ได้ เพื่อใช้หาหมายเลขเคาน์เตอร์เช็กอิน เมื่อมาถึงสนามบิน หมายเลขประตูขึ้นเครื่อง ดูสถานะเที่ยวบิน ว่าล่าช้า (Delayed) หรือ ยกเลิก (Cancelled) หรือไม่ และเพื่อให้ง่ายในการเขียน ใบตม. รวมถึงการผ่านด่าน ตรวจคนเข้าเมืองประเทศปลายทางด้วย
- เส้นทางบิน (From/To) จะแสดงเป็นภาษาอังกฤษ ระบุชื่อเมืองหรือสนามบินต้นทาง และชื่อเมืองหรือ สนามบินปลายทาง ของเที่ยวบินนั้นๆ
- วันที่เดินทาง (Date) แสดงวันที่เราออกเดินทาง
- เวลาเครื่องออก (Departure Time) คือเวลาที่เครื่องบิน จะเคลื่อนที่เพื่อเตรียมขึ้นสู่ท้องฟ้า
- ข้อควรระวัง
- การแสดงเวลาของสายการบินจะแสดงแบบ 24ชม. คือ เริ่มตั้งแต่ 00.00-23.59น.
- สำหรับผู้เดินทาง เที่ยวบินระหว่างประเทศ ช่วงกลางคืน ที่เครื่องบินออกระหว่างเวลา 00.00 – 04.00น. (เที่ยงคืน-ตีสี่) ระวังจะสับสนเรื่องวันที่ในการเดินทาง เช่น ถ้าเครื่องบินออกเวลา 02.15น. ของวันที่ 22 สิงหาคม นั่นหมายความว่า เราจะต้องไปถึงสนามบิน ตั้งแต่เวลา 23.15น. (ห้าทุ่มสิบห้า) ของคืนวันที่ 21 สิงหาคม ถ้าหากเราต้องการเผื่อเวลาให้ไปถึงสนามบินอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ก่อนเครื่องออก เป็นต้น
- ชั้นโดยสาร (Class) จะระบุว่า Economy หรือ Business หรือ First
- ประตูขึ้นเครื่อง (Gate) คือ จุดที่เราต้องไปขึ้นเครื่อง ซึ่งบางครั้งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงประตูขึ้นเครื่อง หลังจากที่เรา ได้รับบอร์ดดิ้งพาสแล้ว ดังนั้นระหว่างที่อยู่ในสนามบิน ควรตรวจสอบข้อมูลเป็นระยะๆ และถ้าหากเป็นสนามบินขนาดใหญ่ มีหลายประตู จะต้องเผื่อเวลาในการเดินไปด้วย เพราะระยะทาง จะค่อนข้างไกลกัน และควรมองหาป้ายที่บอกทางให้ดี ว่าประตูของเราต้องเดินไปทางไหน ทั้งนี้ประตูขึ้นเครื่องนี้อาจจะเป็น ตัวเลขหรือตัวอักษรภาษาอังกฤษก็ได้ ขึ้นอยู่กับสนามบิน
- เวลาขึ้นเครื่อง (Boarding Time) คือ เวลาที่สายการบินจะเรียกผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ไม่ใช่เวลาที่เราไปถึงประตู และไม่ใช่เวลาเครื่องออก ซึ่งหมายความว่า ณ เวลานี้เราควรจะนั่งรออยู่หน้าประตูแล้ว โดยปกติหลังจากเช็กอินเสร็จ เจ้าหน้าที่มักจะย้ำเสมอว่า ควรไปถึงประตูก่อนเวลานี้ ประมาณ 30 นาที
- โซนที่นั่ง (Boarding Zone/Priority) แสดงไว้เพื่อจัดลำดับการขึ้นเครื่องของผู้โดยสาร เนื่องจากพื้นที่บนเครื่องบินมีจำกัด หากให้ผู้โดยสารขึ้นไปพร้อมๆ กันก็จะเดินกันวุ่นวายและแออัด ดังนั้นผู้โดยสารที่นั่งอยู่ โซนท้ายเครื่องจะได้ขึ้นเครื่องก่อน ส่วนผู้โดยสารโซนหน้าสุด (ที่ไม่ใช่ First Class และ Business Class) จะถูกเรียกให้ขึ้นเครื่องเป็นกลุ่มสุดท้าย (บางสายการบิน อาจจะไม่ได้ระบุ โซนที่นั่งไว้บนบอร์ดดิ้งพาส)
- เลขที่นั่ง (Seat Number) เป็นหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วยตัวเลขตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ โดยตัวเลขจะบอกแถวที่นั่งแบบเรียงหน้ากระดาน ส่วนตัวอักษรภาษาอังกฤษ จะบอกแถวที่นั่งในลักษณะ ของแถวตอนลึก (Window seat ที่นั่งริมหน้าต่าง / Aisle seat ที่นั่งริมทางเดิน / Middle seat ที่นั่งตรงกลาง มีคนขนาบข้าง)
- หมายเลขตั๋วโดยสาร (Ticket Number หรือเขียนย่อว่า ETKT) หมายเลขนี้จะเรียงตามลำดับการออกตั๋วโดยสาร โดยจะเป็นตัวเลขที่แสดงพร้อมบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ด ใช้สำหรับเช็กอิน
- หมายเลขสมาชิกสะสมไมล์ (Frequency Flyer) จะแสดงเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิก และได้แจ้งหมายเลขสมาชิก ตอนที่ออกตั๋วโดยสาร หรือตอนที่เช็คอิน เท่านั้น
คำเตือน:
อย่าเปิดเผย หรือนำข้อมูลของ Boarding pass ไปแสดงบนโลกออนไลน์ (อย่าให้คนอื่นเห็น) เพราะผู้ที่ไม่หวังดี จะนำข้อมูลใน Boarding pass ไปทำการ login เข้าสู่ระบบ ทำให้ผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของคุณ และยังสามารถแก้ไข ข้อมูลได้อีกด้วย
ขณะเช็คอิน ที่เคาน์เตอร์ของสายการบิน เพื่อทำการโหลดกระเป๋า ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะ หยอกล้อเล่นกัน หรือพูดถึง ระเบิด หรือ ไวรัสโควิด19 หรือ เครื่องบินจะตก หรือ อื่นๆที่เกี่ยวข้อง กับอันตราย ของในกระเป๋าเดินทาง เพราะอาจเกิดปัญหาได้ ทางที่ดีที่สุด อย่าพูดถึงดีกว่า!!! (โทษจำคุก 5-15ปี ปรับ 200,000-600,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)
Boarding Pass ของแต่ละสายการบินจะหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่ข้อมูลในนั้นเหมือนกัน
ผู้โดยสารที่ไม่มีบอร์ดดิ้งพาส และ บัตรประจำตัวประชาชน (สำหรับการเดินทางภายในประเทศ) หรือพาสปอร์ต (สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ) แสดงต่อ เจ้าหน้าที่ ที่อยู่ด้านหน้าทางเข้า ส่วนผู้โดยสารขาออก จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปข้างใน
เมื่อเราไปถึงยังหมายเลขประตูทางออกขึ้นเครื่อง ของเที่ยวบินนั้นๆ เจ้าหน้าที่ที่ประตูทางออกนั้น จะตรวจเช็คบอร์ดดิ้งพาส และบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต ของผู้โดยสารอีกครั้งว่า ข้อมูลถูกต้องตรงกัน ทั้งผู้โดยสารและรายละเอียดบน บอร์ดดิ้งพาสกับ บัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต ถ้าหากถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะฉีกบอร์ดดิ้งพาส ที่เป็นส่วนของสายการบินเก็บไว้ และคืนส่วนที่เป็นของผู้โดยสาร พร้อมทั้ง บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง คืนกลับมาให้เรา
เราควรจะต้องแสดงบอร์ดดิ้งพาส ให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือ ที่เราเรียกกันง่ายๆว่า แอร์โฮสเตส(ผู้หญิง) หรือสจ็วต(ผู้ชาย) ดู
เมื่อเราขึ้นไปถึงประตูทางเข้าเครื่องบิน เพื่อให้เขารู้ว่า เที่ยวบินที่เราจะไปนั้น ตรงกับเครื่องบิน ที่เราขึ้นมาหรือไม่ และเราได้ที่นั่งหมายเลขอะไร ซึ่งเขาจะได้บอกเราว่า ที่นั่งของเราอยู่ตรงไหน เมื่อเราได้นั่งที่เรียบร้อยแล้ว จึงค่อยเก็บบอร์ดดิ้งพาส
ถ้าหากเราได้ขออาหารพิเศษไว้ (Special Meals) เช่น อาหารมังสวิรัต หรือ อาหารเด็ก เป็นต้น เราควรจะนั่งให้ตรงกับหมายเลขที่นั่ง ที่ระบุไว้บนบอร์ดดิ้งพาส เพื่อที่พนักงานจะได้นำอาหารมาส่งให้เราได้อย่างถูกต้อง (สำหรับการขออาหารพิเศษ ผู้โดยสารจะต้องแจ้งทางสายการบินล่วงหน้า อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ก่อนกำหนดเดินทาง ทั้งนี้ระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้า และประเภทของอาหารพิเศษ ของแต่ละสายการบิน จะแตกต่างกัน)
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เดินทางควรรู้
ตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่เช็คอิน จะทำการชั่งน้ำหนักกระเป๋า ที่จะโหลดใต้เครื่อง พร้อมกับพันแถบบาร์โค้ด ที่บริเวณหูหิ้วกระเป๋าเดินทาง และจะต้องมอบแท็กกระเป๋า เป็นบาร์โค้ดเล็กๆ คืนกลับมาให้ เท่ากับจำนวนกระเป๋าที่เราเช็กอินไป กระเป๋า 1 ใบ ต้องได้แท็ก 1 ใบ บ้างก็จะแปะแท็กกระเป๋ากลับมา ให้บริเวณด้านหลังของบอร์ดดิ้งพาส บ้างก็จะแปะไว้ให้ที่ปกหน้า หรือปกหลังของพาสปอร์ต หรือ อาจจะแยกมาเป็นแผ่นกระดาษอีกใบ กรณีถึงปลายทาง แล้วสัมภาระที่โหลดมาล่าช้า หรือสูญหาย ผู้เดินทาง สามารถใช้บาร์โค๊ดนั้นไปติอต่อที่เคาน์เตอร์ Lost & Found ณ สนามบินปลายทางนั้นได้เลย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ติดตาม สัมภาระคืนแก่ผู้เดินทางต่อไป
ป้องกัน สัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องบิน หายระหว่างเดินทาง
- เลือกกระเป๋าเดินทางไม่เหมือนใคร
- เช็คแท็กสัมภาระทุกครั้ง
- ติดสติกเกอร์ พวงกุญแจ หรือใช้สายรัดกระเป๋า
- ถ่ายรูปสัมภาระเก็บไว้